โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
โรคที่เกิดจากมีการอักเสบ บวม แดง ของเยื่อเมือกบุภายในกระเพาะอาหาร เป็นโรคพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และพบทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายสามารถเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลันในเวลาอันรวดเร็ว เป็นระยะสั้นๆ และภายใน1-2สัปดาห์ หรือมีอาการบ่อยครั้งเป็นเวลานานจนเกิดการอักเสบเรื้อรังเกิดแผลและเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคทางกระเพาะอาหารได้
โรคกระเพาะอาหารอักเสบมีอาการอย่างไร?
- ปวดท้องตำแหน่งกระเพาะอาหาร (ใต้ลิ้นปี่) เป็นๆ หายๆ
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอบ่อย แน่นอึดอัดท้องทั้งๆที่ไม่ได้กินอะไร หรือ กินเพียงเล็กน้อย (ธาตุพิการ/อาหารไม่ย่อย)
- คลื่นไส้ อาเจียน เมื่อเป็นมาก อาจอาเจียนเป็นเลือดได้
- เบื่ออาหาร และอาจผอมลง
- เมื่อเป็นมาก และมีเลือดออกจากเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหาร จะมีถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอย
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ได้แก่
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ดื่มกรด หรือ ด่าง ซึ่งทั้งกรด และด่างจะก่อให้เกิดการระคายเคือง และการอักเสบของเซลล์เยื่อเมือกบุกระเพาะอาหาร
- การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่ม กาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคล่า เครื่องดื่มชูกำลัง มักทำให้อาการรุนแรงขึ้น จากการก่อการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกกระเพาะอาหาร และกระตุ้นให้เซลล์เยื่อเมือกสร้างกรดเพิ่มขึ้น
- โรคจากที่น้ำดีจากตับซึ่งปกติจะอยู่เฉพาะในลำไส้เล็ก ท้นเข้าสู่กระเพาะอาหาร น้ำดีจึงก่อให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบของเซลล์เยื่อเมือกบุกระเพาะอาหาร
- ความเครียด เพราะจะกระตุ้นให้เซลล์กระเพาะอาหารหลั่งกรดเพิ่มขึ้น ซึ่งกรดจะก่อการระคายเคือง และ การอักเสบต่อเซลล์เยื่อเมือกบุกระเพาะอาหาร
- อุบัติเหตุร้ายแรงที่ส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียดสูง ซึ่งส่งผลให้กระเพาะอาหารสร้างกรดสูงขึ้นมาก เช่น อุบัติเหตุต่อสมอง หรือหลังการผ่าตัดใหญ่ เช่น การผ่าตัดสมอง หรือช่องท้อง จึงเกิดกระเพาะอาหารอักเสบรุนแรง หรือแผลในกระเพาะอาหาร (Stress ulcer)
- กินยาต้านการอักเสบ หรือยาแก้ปวดกลุ่มเอนเสดส์ (NSAIDs,Non-steroidal anti-inflammatory drugs) โดยเฉพาะการกินยาอย่างต่อเนื่อง เช่น แอสไพริน Ibuprofen Celecoxib และ Indomethacin หรือ ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) ซึ่งยาในกลุ่มดังกล่าวจะก่อการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุภายในกระเพาะอาหาร ก่อการอักเสบ และก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ (โรคแผลเปบติค)
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ และการพบแพทย์ ได้แก่
- กินยาตามแพทย์แนะนำ ให้ถูกต้อง สม่ำเสมอ
- สังเกตความสัมพันธ์ของอาการกับอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ จำกัด หรือ งดอาหาร และเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดอาการ หรือที่เพิ่มความรุนแรงของอาการ
- งด/เลิก บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจำกัดเครื่องดื่มกาเฟอีน
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆซ้ำหลัง จากรักษาโรคหายแล้ว
- ไม่ซื้อยาแก้ปวด หรือ ยาสเตียรอยด์ กินเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือ เภสัชกร ก่อน
- รักษา ควบคุม โรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
- รักษาสุขภาพจิต ไม่ก่อให้เกิดความเครียดจนเกินเหตุ
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการต่างๆเลวลง หรือ มีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อกังวลในอาการ
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน เมื่อ
- อาเจียนเป็นเลือด หรือ
- อุจจาระมีสีดำเหมือนยางมะตอย
- กินอาหารอ่อนย่อยง่าย
- กินอาหารตรงตามเวลาทุกมื้อ
การป้องกันไม่ให้เกิดโรค
การป้องกันโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ที่สำคัญ คือ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันกระเพาะอาหารติดเชื้อต่างๆ
- รักษาสุขภาพจิต เพื่อลดภาวะการสร้างกรดสูงของกระเพาะอาหาร
- ไม่ซื้อยาแก้ปวด หรือ ยาสเตียรอยด์ กินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือ เภสัชกร
- งด/เลิก บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจำกัดเครื่องดื่มกาเฟอีน
- รักษา ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อกระเพาะอาหารอักเสบ
ข้อควรปฏิบัติ
- ถ้าเป็นการอักเสบอย่างธรรมดา ควรปฏิบัติดังนี้ ควรเริ่มรับประทานอาหารเหลว เช่น ซุบใสก่อน ต่อไปเพิ่มขนมปัง มันต้มบด ข้าวต้ม แล้วจึงค่อยเปลี่ยนเป็นอาหารธรรมดา งดอาหารรสจัด เครื่องดื่มที่เป็นกรดหรือด่าง
- รับประทานยาจำพวกลดกรดในกระเพาะ ซึ่งอาจหาซื้อได้ตามร้านขายยาและรับประทานตามคำอธิบายที่มีมาพร้อมยานั้น
- ประคบความร้อนที่หน้าท้องเหนือบริเวณกระเพาะทุก 3 ชั่วโมง ทำเช่นนี้ติดต่อกันไปแต่ไม่เกินสองวัน
- พยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้กระเพาะอักเสบ หากอาการยังไม่ทุเลาควรให้แพทย์ตรวจให้แน่ใจว่ามิใช่เป็นอาการของมะเร็งใน กระเพาะอาหาร
- แต่ถ้าเป็นการอักเสบเนื่องจากการกินยาพิษหรือสารพิษ ต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที