โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อหรือโรคนิวโมเนีย (Pneumonia) เป็นโรคติดเชื้อในตำแหน่งของหลอดลมฝอยลุกลามจนถึงถุงลมปอด ส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังเกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดอื่นได้ เช่น พยาธิและเชื้อรา ขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย เมื่อปอดติดเชื้อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะส่งเม็ดเลือดขาวมาที่เซลล์ปอด และเกิดปฏิกิริยาการอักเสบจากการทำลายเชื้อโรค เกิดหนองหรือของเหลวท่วมขังอยู่ภายในถุงลมปอด รวมทั้งทำให้เซลล์ปอดบวมใหญ่ขึ้น เป็นที่มาของคำว่า “ปอดบวม” นั่นเอง
ภาวะดังกล่าวทำให้เกิดอาการไข้ ไอ หายใจลำบาก และหอบเหนื่อยตามมา อาการความรุนแรงจะแตกต่างกันไปตามกลุ่มอายุ โรคร่วม ระดับภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วยและชนิดของเชื้อก่อโรคและเนื่องจากโรคปอดอักเสบติดเชื้อยังเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นในกลุ่มโรคติดเชื้อ การวินิจฉัยอย่างทันท่วงที การรักษาที่ถูกต้องตามมาตรฐานรวมถึงการป้องกันในกลุ่มเสี่ยงจึงมีความสำคัญอย่างมาก
ระยะฟักตัวของโรค
– ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย อาจสั้นเพียง 1 – 3 วัน หรือนาน 1 – 4 สัปดาห์
ลักษณะการติดเชื้อ มีด้วยกันหลายทาง ดังนี้
- การสำลักเชื้อที่สะสมรวมกลุ่มอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนลงไปสู่เนื้อปอด เช่น สำลักน้ำลาย อาหาร หรือสารคัดหลั่งในทางเดินอาหาร หากในระยะนี้ผู้ป่วยมีร่างกายอ่อนแอ มีการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนหรือมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย ก็จะทำให้เกิดปอดอักเสบได้
- การหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง การสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยขนาดเล็ก เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบจากกลุ่มเชื้อไวรัส เชื้อวัณโรค และเชื้อรา จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อเหล่านี้ได้ง่ายในกลุ่มคนที่อยู่รวมกัน โดยเฉพาะครอบครัว ชั้นเรียน ห้องทำงาน สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน หรือในบริเวณที่มีคนอยู่แออัด
- การแพร่กระจายของเชื้อตามกระแสโลหิต เป็นทางสำคัญที่ทำให้เกิดปอดอักเสบจากเชื้อที่ก่อโรคในอวัยวะอื่น
- การลุกลามโดยตรงจากการติดเชื้อที่อวัยวะข้างเคียงปอดเช่น เป็นฝีในตับแล้วแตกตัวเข้าสู่เนื้อปอด
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย (Instruction for Patient )
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบ
- บุคคลที่มีภูมิคุ้มกันต่ำตามวัย คือคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
- บุคคลที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพองและโรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ปัจจัยอื่นๆ เช่น ดื่มสุราเรื้อรัง สูบบุหรี่ อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดที่มีระบบสุขาภิบาลไม่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลภาวะ
อาการและอาการแสดงของโรคปอดอักเสบ
ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมักมีอาการแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค มักมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ อาการปอดอักเสบที่พบบ่อยคือ
- อาการเฉพาะที่ในระบบทางเดินหายใจ ไอ เสมหะเยอะ เสมหะสีเหลืองหรือเป็นหนอง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจเร็ว
- อาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ บางรายอาจจะมีหนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ซึมลง
ภาวะแทรกซ้อนของปอดอักเสบ
- การติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด กรณีสาเหตุของปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
- ภาวะช็อค กรณีติดเชื้อรุนแรง นำไปสู่ระบบอวัยวะภายในล้มเหลว
- ภาวะมีน้ำหรือเป็นหนองในเยื่อหุ้มปอด
- ภาวะฝีในปอด
- ภาวะการหายใจล้มเหลว
- ติดเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง
การวินิจฉัย
- จากอาการและอาการแสดงดังที่กล่าวข้างต้น
- ภาพรังสีทรวงอก จำเป็นต้องทำเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและประเมินภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ
การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ
- การตรวจนับเม็ดเลือดขาวในเลือด
- การย้อมเสมหะ ตรวจกล้องจุลทรรศน์
- การตรวจเสมหะเพาะเชื้อ
- การเพาะเชื้อจากเลือด (Hemoculture) ทำเฉพาะรายที่เป็นรุนแรง
- การตรวจคัดกรองไข้หวัดใหญ่ กรณีสงสัย
- การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) , การส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscope) พิจารณาโดยแพทย์เฉพาะทางตามความเหมาะสม
การรักษา
- การรักษาจำเพาะ
- ในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาที่จำเพาะ ยกเว้นไข้หวัดใหญ่ที่มียาต้านไวรัส (oseltamivir or Tamiflu)
- ในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเร็วที่สุดทันทีที่ได้รับการ วินิจฉัยว่ามีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย การพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะควรเลือกใช้ตามเชื้อที่คิดว่าเป็นสาเหตุในรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือยากิน พิจารณาตามความเหมาะสม
- การรักษาทั่วไป
- ให้สารน้ำให้เพียงพอ แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ ในรายที่หอบมาก ท้องอืด รับประทานอาหารไม่ได้ แพทย์อาจพิจารณาให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและงดอาหารทางปาก
- ใช้ยาขยายหลอดลมในรายที่มีหลอดลมตีบร่วมด้วย
- ให้ออกซิเจนในรายที่มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่ามาตรฐาน
- การใช้เครื่องพยุงการหายใจ (Non – invasive mechanical ventilation) เครื่องปล่อยออกซิเจนอัตราไหลสูง (High flow nasal cannula) พิจารณาใช้ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดระบบหายใจล้มเหลวรวมถึงการพิจารณาใส่ท่อช่วยหายใจและเครื่องช่วยหายใจ กรณีหยุดหายใจหรือระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน
- ทำกายภาพบำบัดทรวงอก (chest physical therapy) เพื่อช่วยให้เสมหะถูกขับออกจากปอดและหลอดลมได้ดีขึ้น
- การรักษาอื่นๆ ตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ ยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะในกรณีที่ให้สารน้ำเต็มที่ แต่เสมหะยังเหนียวอยู่
- การป้องกันไม่ให้เกิดโรค (Disease Prevention)
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะไม่ควรพาเด็กเล็กๆไปในสถานที่ดังกล่าว
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ภาวะทุพโภชนา ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น
- ไม่ควรให้เด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีและผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงคลุกคลีกับผู้ป่วย
- ให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีน IPD ป้องกันแก่ผู้ที่เสี่ยง
- ข้อควรระวัง (Precaution)
- ผู้มีภาวะหายใจล้มเหลวหรือหยุดหายใจ แพทย์จะพิจารณาใส่ท่อหลอดลมและเครื่องช่วยหายใจ
- ยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะในกรณีที่ให้สารน้ำ เต็มที่ แต่เสมหะยังเหนียวอยู่ ไม่ควรให้ยากดอาการไอโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำ กว่า 5 ปี