การผ่าตัดนิ่วในไตโดยการเจาะรูส่องกล้องผ่านผิวหนัง
(PercutaneousNephrolithotomy : PCNL)
โรคนิ่วในไต เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะที่พบได้บ่อย เกิดจากการตกตะกอนของสารต่างๆ จนกลายเป็นก้อน โดยมีปัจจัยส่งเสริม ดังนี้
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป
- พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีสารก่อนิ่วสูง เช่น ยอดผัก ผักโขม ผักกระเฉด ถั่ว ชา ช็อกโกแลต พริกไทยดำ และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง อาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล และอาหารที่มีสารซีสทีนสูง เช่น นม ไก่ เป็ด
- ภาวะน้ำหนักเกิน
- ปัจจัยทางพันธุกรรม
อาการ
- ปวดบริเวณข้างลำตัวและหลัง อาจร้าวไปจนถึงขาหนีบ ขึ้นกับตำแหน่งของนิ่ว
- ปวดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย น้ำปัสสาวะน้อยผิดปกติ
- ปัสสาวะมีเลือดปน
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้ หนาวสั่น
การรักษานิ่วในไต
แนวทางการรักษาโรคขึ้นอยู่กับขนาดของนิ่ว
- แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ หากก้อนนิ่วมีขนาดเล็กมาก เพื่อให้ร่างกายขับนิ่วออกมาเองตามธรรมชาติ
- การรับประทานยา โดยให้ยาแก้ปวด หรือ ยาช่วยขับก้อนนิ่วเพื่อให้หลุดออกมาทางปัสสาวะ
- การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy : ESWL) เป็นการใช้คลื่นเสียงทำให้เกิดแรงกระแทกที่ก้อนนิ่วจนก้อนนิ่วแตกเป็นชิ้นเล็กๆ และหลุดออกมากับปัสสาวะ
- การส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ (Ureteroscopy) โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีกล้องติดอยู่ผ่านเข้าไปตามท่อปัสสาวะเพื่อขบนิ่วให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำออกทางมาทาง
- การผ่าตัด โดยการเจาะรูส่องกล้องผ่านผิวหนัง (PercutaneousNephrolithotomy : PCNL)
เป็นวิธีการผ่าตัดที่พัฒนามาเพื่อเลี่ยงการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง โดยใช้วิธีการเจาะรูเล็ก ๆ เพียงรูเดียวที่บริเวณหลังของผู้ป่วย ทะลุจากผิวหนังเข้าไปในกรวยไต และใช้กล้องส่องตามไปจนพบก้อนนิ่ว แพทย์จะทำให้นิ่วนั้นแตกออกเป็นขนาดเล็กโดยอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัย แล้วคีบเอานิ่วออกมาผ่านทางรูเดียวกัน
การผ่าตัดชนิดนี้ดีอย่างไร
การรักษาโดยวิธีนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมาก เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด
- แผลเจาะมีขนาดเล็กเพียงประมาณ 1 เซนติเมตรอาการเจ็บแผลจะน้อยกว่า
- มีการใช้ยาระงับปวดน้อยกว่า
- อัตราการเสียเลือดน้อยกว่า
- กลับบ้านได้เร็วภายใน 2-3 วันหลังผ่าตัด
การปฏิบัติตัวก่อนและหลังผ่าตัด
ก่อนการผ่าตัด
- ควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย 1 วันก่อนผ่าตัด
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมง
- งดยาละลายลิ่มเลือด และอาหารเสริมที่จะส่งผลต่อการผ่าตัด อย่างน้อย 7 วัน
- งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
- ไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่องตรงตามวันนัด
หลังการผ่าตัด
- วันแรกอาจจะรู้สึกปวดแผล สามารถรับประทานยาแก้ปวดที่แพทย์จัดให้
- ปัสสาวะอาจเป็นสีแดงหรือสีน้ำล้าง อาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน
- ดื่มน้ำมากๆอย่างน้อย 3-4 ลิตรต่อวัน เพื่อให้มีปัสสาวะมากๆช่วยพัดพาเศษนิ่วที่แตกแล้วให้หลุดออกมาได้เร็วขึ้น
- สามารถกลับมาทำกิจกรรมตามปกติได้ในเวลา 1 สัปดาห์
- ถ้ามีอาการปวดมาก ไข้สูง ปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะไม่ออก ควรรีบกลับมาพบแพทย์ทันที