ต้อหิน
ปัจจุบันต้อหินเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการมีตาบอดถาวรในประชากรไทยและอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคต้อหินคิดเป็น 30% ในประชากรที่มีอายุเกิน 40 ปี ขี้นไป คิดเป็นจำนวนมากกว่า 2 ล้านคน พบได้ทั้งเพศหญิงและชาย
ต้อหินเป็นกลุ่มโรคทางตาที่มีความเสื่อมของขั้วประสาทตา ส่งผลให้เกิดการสูญเสียลานสายตา และการมองเห็น โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดต้อหินได้แก่ ความดันลูกตาที่สูงขึ้น
กลไกการเกิดต้อหิน
ลูกตาส่วนหน้าจะมีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา (aqueos humor) โดย ciliarybody ซึ่งเป็นอวัยวะภายในลูกตา น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาจะมีการไหลเวียนผ่านเข้าสู่ช่องหน้าม่านตา และระบายออกจากลูกตาทาง trabecula meshwork เพื่อรักษาระดับความดันลูกตาให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งในโรคต้อหินจะมีความผิดปกติของการไหลเวียนน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้น และเกิดการทำลายขั้วประสาทตาตามมา
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคต้อหิน
- เชื้อชาติเอเชียจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินมุมปิด และเชื้อชาติแอฟริกันอเมริกันจะพบต้อหินสูงกว่าคนผิวขาว 6-8 เท่า
- อายุมากกว่า 40 ปี
- มีประวัติในครอบครัวโดยเฉพาะญาติสายตรงเป็นต้อหิน จะมีโอกาสเป็นต้อหินมากกว่าคนทั่วไป 5-6 เท่า
- มีภาวะสายตาสั้นหรือยาวมากๆ
- มีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างลูกตา
- เคยตรวจพบความดันลูกตาสูงมาก่อน
- มีอุบัติเหตุกับดวงตามาก่อน
- มีการใช้ยาสเตียรอยด์
- มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือ ปวดหัว ปวดตา เป็น ๆ หาย ๆ
ประเภทต้อหิน
- ต้อหินมุมปิด (angle closure glaucoma) คนไทยมีความเสี่ยงเกิดต้อหินมุมปิดได้มากกว่าคนชาติตะวันตก 6 เท่า ต้อหินชนิดนี้เกิดจากการที่มุมตาถูกอุดกั้น ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไม่สามารถไหลเวียนออกได้ตามปกติ ทำให้ความดันตาสูงขึ้น โดยพบว่าผู้ป่วยมักจะมีภาวะต้อกระจกร่วมด้วย
อาการ :
- ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดตาอย่างรุนแรงและฉับพลันจากความดันตาทีสูงขึ้นมากและรวดเร็ว ตาแดง น้ำตาไหล ตามัว คลื่นไส้อาเจียน เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
- ต้อหินมุมปิดเรื้อรัง มักไม่มีอาการหรืออาจจะมีอาการปวดตา ปวดศีรษะเวลาเข้าในที่มืด จะได้รับการวินิจฉัยเมื่อได้รับการตรวจตา
- ต้อหินมุมเปิด (open angle glaucoma)
พบได้บ่อยกว่าต้อหินมุมปิด เกิดจากการอุดตันของ trabecula meshwork ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไม่สามารถไหลเวียนออกได้ตามปกติ ทำให้ความดันตาสูงขึ้น
อาการ : ผู้ป่วยมักไม่มีอาการในระยะแรก หากไม่ได้ตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ต้น จะทำให้มีการสูญเสียการมองเห็นอย่างช้าๆ และมักจะรู้สึกตามัวเมื่อประสาทตาเหลือเพียง 20-30 % เท่านั้น
- ต้อหินมุมเปิดที่มีความดันตาปกติ (normal tension glaucoma)
ผู้ป่วยต้อหินกลุ่มนี้มักเกิดความเสื่อมของขั้วประสาทตา ทั้งๆ ที่ความดันตาอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยพบมากในคนญี่ปุ่น มักมีประวัติโรคหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด ไมเกรน หรือโรคทางระบบภูมิคุ้มกันบางชนิด
- ต้อหินทุติยภูมิ (Secondary glaucoma)
เป็นต้อหินที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่นจากต้อกระจกที่สุกมาก ม่านตาอักเสบ เคยได้รับอุบัติเหตุทางตา มีการใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน มีโรคที่จอประสาทตาเช่น เบาหวานขึ้นจอประสาทตา เส้นเลือดที่จอตาอุดตัน หรือเกิดหลังการผ่าตัดตาบางอย่าง
- ต้อหินแต่กำเนิด ( Congenital glaucoma)
พบได้น้อยแต่อาการมักรุนแรงและควบคุมโรคได้ยาก พบในทารกแรกคลอด จนถึงอายุ 3 ปี อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือจากการติดเชื้อของมารดาระหว่างตั้งครรภ์
การรักษาต้อหิน
ต้อหินทำให้เส้นประสาทตาเสียอย่างถาวรไม่สามารถรักษาให้กลับมาปกติได้ การรักษาเพื่อประคับประคองและป้องกันไม่ให้ประสาทตาถูกทำลายมากขึ้นและเพื่อคงการมองเห็นที่มีอยู่ให้นานที่สุด เมื่อพบว่าเป็นต้อหิน ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาเพื่อควบคุมความดันตา ทั้งนี้การรักษาจะขึ้นกับชนิดและระยะของโรค
- การรักษาด้วยยา
ในปัจจุบันยาหยอดตารักษาต้อหินมีหลายกลุ่ม ออกฤทธิ์ลดการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา หรือช่วยให้การไหลเวียนออกจากลูกตาดีขึ้น เพื่อลดความดันลูกตา ผู้ป่วยจำเป็นต้องหยอดตาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และมาตรวจติดตามการรักษาเป็นระยะๆ เพื่อปรับการหยอดยาให้เหมาะสมตามความรุนแรงของโรค
- การใช้เลเซอร์
ประเภทของเลเซอร์ขึ้นกับชนิดและระยะของโรคต้อหิน
- การผ่าตัด
ใช้รักษาผู้ป่วยที่การรักษาด้วยยาหรือเลเซอร์ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้ เป็นการผ่าตัดเพื่อเพิ่มช่องทางการระบายน้ำออกจากลูกตา
- Trabeculectomy เป็นการผ่าตัดมาตรฐาน เพื่อเจาะผนังลูกตาทำทางระบายน้ำ ลดความดันตา
- Glucoma drainage device (GDD) เป็นการผ่าตัดใส่ท่อที่ทำด้วยวัสดุสังเคราะห์เช่นซิลิโคน เข้าไปในช่องหน้าม่านตาและมีจานกักเก็บเย็บวางหลังลูกตา เพื่อระบายน้ำออกจากช่องหน้าม่านตา และมาเก็บไว้ที่จานเก็บกัก มักใช้ในกรณีที่ล้มเหลวจากการผ่าตัดแบบ trabeculectomy
- Minimal invasive glaucoma surgery (MIGS)
ปัจจุบันมีความพยายามจะทำให้การผ่าตัดปลอดภัยขึ้น โดยการใช้อุปกรณ์ต่างๆมาใช้ประกอบการผ่าตัด โดยไม่ต้องเปิดแผลที่เยื่อตา เช่น การใส่ i-stent, การทำ trabectome เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.พรรณิศา ประดิษฐ์สุขถาวร