มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก

เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกเสียชีวิตและพบมากเป็นอันดับต้นๆ ในสตรีไทย เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกจะไม่มีอาการแสดง กว่าผู้ป่วยจะสังเกตความผิดปกติและมาพบแพทย์นั้น อาการของโรคได้ลุกลามไปมากแล้ว โรคมะเร็งปากมดลูกจะมีการดำเนินโรคนานประมาณ 5-10 ปี นับจากที่เซลล์บริเวณปากมดลูกติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และมีการเปลี่ยนแปลงไปจนถึงระยะที่ภาวะของโรครุนแรงมากขึ้น

สาเหตุ

  • การติดเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ก่อมะเร็งอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • การมีพฤติกรรมทางเพศที่มีความเสี่ยง เช่น มีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย สามีมีคู่นอนหลายคน
  • สูบบุหรี่
  • ใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
  • ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น รับประทานยากดภูมิต้านทางการติดเชื้อเอชไอวี

อาการ

  • มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีอาการเจ็บปวด
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน และมีสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ
  • มีตกขาวมากกว่าปกติ และมีกลิ่นเหม็น
  • ปวดท้องน้อย และคลำพบก้อน
  • ปวดหลัง เพราะมดลูกโตไปกดทับแผงประสาท

การรักษา

หากตรวจพบตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดปากมดลูก การจี้ความเย็น หรือการใช้เลเซอร์ แต่ถ้าหากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว การรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคและความเหมาะสมของผู้ป่วย ในรายที่เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะแรกสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด หากตรวจพบในระยะหลังแพทย์จะให้การรักษาด้วยการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด

การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกทำได้ 2 ระยะ คือ

  1. การป้องกันปฐมภูมิ
  •    หลีกเลี่ยงการมีพฤติกรรมทางเพศที่มีความเสี่ยง
  •    ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  •    รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  •    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรืออยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่มาก
  •    ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
  1. การป้องกันทุติยภูมิ
  •    ตรวจสุขภาพและตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงตรวจการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ตามคำแนะนำของแพทย์
  •    หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตกขาว มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกที่ไม่ใช่รอบเดือน ควรปรึกษาแพทย์ทันที

ควรตรวจมะเร็งปากมดลูกเมื่อไร ?

ควรเริ่มเข้ารับการตรวจหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ประมาณ 3 ปี หรือเมื่ออายุ 21 ปี

  •    กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี ควรตรวจคัดกรองทุกปี เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวีชนิดที่ก่อมะเร็งมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
  •    กลุ่มอายุมากกว่า 30 ปี มี 2 ทางเลือก คือ
  1.     การตรวจทางเซลล์วิทยา (Thin Prep) เพียงอย่างเดียว ถ้าได้รับการตรวจปีละครั้ง แล้วผลเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี หลังจากนั้นสามารถรับการตรวจคัดกรองทุกๆ 2-3 ปีได้
  2.     การตรวจทางเซลล์วิทยาร่วมกับการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีชนิดสายพันธุ์ก่อมะเร็ง ถ้าผลเป็นปกติ (Negative) ทั้ง 2 อย่าง ให้ตรวจได้ห่างขึ้นทุกๆ 3 ปี แต่ถ้าผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะต้องรับการตรวจบ่อยขึ้น สำหรับสุภาพสตรีที่มีอายุ 70 ปี        ขึ้นไปและไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ สามารถหยุดการตรวจได้

วิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูก

  1. การตรวจมะเร็งปากมดลูกแบบอิงของเหลว (Liquid Based Cytology หรือ Thin Preparation Pap Smear) เป็นการใช้อุปกรณ์เฉพาะ เก็บตัวอย่างโดยการป้ายนำเอาเนื้อเยื่อบุผิวบริเวณปากมดลูก แล้วนำเซลล์ตัวอย่างเข้าเครื่องอัตโนมัติ ในการเตรียมเซลล์บนสไลด์แก้วจะมีการกำจัดสิ่งปนเปื้อนของมูก เซลล์เม็ดเลือด หรือลดการทับกันของเซลล์ที่หนาแน่นเกินไป ทำให้เพิ่มโอกาสในการตรวจพบความผิดปกติได้ดียิ่งขึ้น การตรวจด้วยวิธีนี้จะมีความแม่นยำ 75%
  2.  การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์ก่อมะเร็ง เป็นการตรวจที่ให้ความไว คือสามารถตรวจพบเชื้อได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก การตรวจนี้จะตรวจหาเชื้อเอชพีวี สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ทั้งนี้การตรวจหา   เชื้อเอชพีวีร่วมกับการตรวจมะเร็งปากมดลูกแบบอิงของเหลวจะให้ผลการตรวจที่มีความแม่นยำสูง

วัคซีน เอชพีวี คืออะไร ?

วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่ช่วยในการป้องกันไวรัสเอชพีวี ชนิดที่ 16 และ ชนิดที่ 18 เป็นไวรัส 2 สายพันธ์หลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูก รวมถึงอาจมีการเสริมการป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี ชนิดที่ 6 และ ชนิดที่ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศด้วย

ควรฉีดวัคซีน เอชพีวี เมื่อไร ? 

เพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงควรเริ่มฉีดในเด็กอายุ 9-13 ปี หรือสตรีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน หากผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้ว สามารถรับวัคซีนได้เช่นกัน แต่ควรรับการตรวจภายในและตรวจการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีก่อน เนื่องจากอาจเคยได้รับเชื้อมาแล้ว

  • วัคซีนเอชพีวี จะต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ภายใน 6 เดือน แต่ถึงแม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม การตรวจภายในและการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอยังเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติต่อไป เพื่อความปลอดภัยและห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูก