อยู่อย่างเข้าใจใน “วัยทอง”

อยู่อย่างเข้าใจใน “วัยทอง”

rsz_22299874384_1a1755cf6c_b

 

วัยทอง ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งในชีวิตเป็นช่วงเวลาที่จะเปลี่ยนผ่านจากวัยผู้ใหญ่สู่วัยผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สรีระร่างกาย จิตใจและอารมณ์ ภาวะนี้เกิดจากรังไข่หยุดทำงานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจึงเกิดภาวะการขาดระดูตามมา ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

  1. ภาวะหมดระดูตามธรรมชาติ (natural menopause): เป็นการหมดระดูเนื่องจากกระบวนการทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการที่รังไข่หยุดทำงานตามธรรมชาติโดยถือว่า ต้องขาดประจำเดือนไปแล้ว 1 ปี แล้วนับย้อนมาวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายถือเป็นอายุที่เข้าสู่วัยทอง ซึ่งโดยเฉลี่ยผู้หญิงจะเข้าสู่วัยทองเมื่ออายุ 50-51ปี
  2. ภาวะหมดระดูที่เกิดจากโรคและผลพวงของการรักษาโรค ภาวะหมดระดูในกลุ่มนี้มักจะเป็นภาวะหมดระดูก่อนวัยอันควร ( prematuremenopause ) คือประจำเดือนหมดในช่วงอายุ 40-45 ปี และภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร(primary ovarian insufficiency คือ หมดประจำเดือนก่อนอายุ 40 ปี ซึ่งเกิดได้จากโรคในกลุ่มที่ทำให้เกิดมีภูมิไวเกินต่อเนื้อเยื่อของรังไข่การได้รับยาเคมีบำบัดรักษามะเร็งชนิดต่างๆ การได้รับการฉายรังสีรักษา การผ่าตัดที่ทำให้เกิดการสูญเสียเนื้อเยื่อรังไข่หรือมีการรบกวนต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงรังไข่หรือโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง เป็นต้น ส่วนการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้าง (surgicalmenopause)จะทำให้เข้าสู่วัยทองทันที

อาการที่พบเมื่อเข้าสู่วัยทอง ได้แก่

  1. ร้อนวูบวาบโดยเฉพาะส่วนบนของร่างกายตั้งแต่หน้าอกขึ้นไป แก้ม คอ หลังจากนั้นจะตามด้วยเหงื่อออกและหนาวสั่น ซึ่งอาการนี้จะเป็นนาน 1-5 นาที
  2. ปัญหาเกี่ยวกับช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากช่องคลอดแห้งและบางลงจึงทำให้มีอาการแสบได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรืออาจจะปัสสาวะเล็ดเวลาไอหรือจาม
  3. ความรู้สึกทางเพศลดลง
  4. มีปัญหาเรื่องการนอน หลับยาก ตื่นเร็ว และบางครั้งอาจมีการตื่นกลางคืนอีกด้วย
  5. อารมณ์ผันผวนมีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เร็ว เครียด หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุ โกรธง่าย ใจน้อย ควบคุมอารมณ์ได้ยาก ซึ่งบางคนอาจจะมีอาการหลงลืมง่าย ซึมเศร้าและเวียนศีรษะ
  6. การเปลี่ยนแปลงทางรูปร่างมีไขมันเพิ่ม กล้ามเนื้อลดลง การเผาผลาญพลังงานลดลง
  7. ผิวหนังจะบางและแห้งลงซึ่งทำให้เกิดแผลได้ง่าย มีอาการคันตามผิวหนัง รวมทั้งเกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนังได้ง่ายขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้เส้นผมจะหยาบ แห้ง และบาง ทำให้หลุดร่วงได้ง่ายยิ่งขึ้่น
  8. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือปวดตามข้อและกระดูก
  9. กระดูกจะบางและเปราะง่าย เวลาหกล้มกระดูกจะหักได้ง่ายขึ้น

สตรีวัยทองควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และเน้นการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้แข็งงาดำ ปลาเล็กปลาน้อยที่รับประทานได้ทั้งกระดูก ผักใบเขียว เป็นต้นแคลเซียมที่รับประทานจะเป็นตัวเสริมสร้างกระดูกเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน นอกจากนี้ควรควบคุมระดับไขมันในเส้นเลือดโดยงดรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงและเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเช่น แอโรบิก เดินหรือวิ่ง และที่สำคัญ ควรได้รับการตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำทุกปี สำหรับสตรีบางท่านมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนได้แก่

  1. มีอาการร้อนวูบวาบตามตัว (Vasomotor symptom)
  2. มีอาการของระบบทางเดินปัสสาวะและช่องคลอด ( Urogenital symptom) เช่น แสบ ร้อน แห้งเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ กลั้นปัสสาวะไม่ได้
  3. เพื่อช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
  4. มีภาวะหมดระดูก่อนวัยอันควร(Premature menopause)

ซึ่งหากท่านใดมีอาการข้างต้น หรือต้องการมาปรึกษาเกี่ยวกับภาวะวัยทองหรือต้องการมาตรวจเช็คสุขภาพด้วยโปรแกรมวัยทอง สามารถรับคำปรึกษาได้ที่คลินิกสูตินรีเวช โรงพยาบาลสิริโรจน์ 076-361888


โดย พญ. กมลา เตชวิวรรธน์ แพทย์เวชศาสตร์เจริญพันธุ์

Photo Credit: Javcon117* Flickr via Compfight cc