โรคท้องเสีย
คือ อาการอุจจาระร่วง หรือ ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้งกว่าปกติ รวมทั้งลักษณะการถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติด้วย เช่น ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายเป็นมูกเลือด หรือถ่ายอุจจาระบ่อย ร่วมกับมีการอาเจียนด้วยสาเหตุ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1. แบบเฉียบพลัน จะพบมากในคนส่วนใหญ่ เกิดขึ้นเร็ว แต่เป็นไม่นาน เช่น
- จากการติดเชื้อ อาจเกิดจากไวรัส บิด อหิวา
- สารพิษ จากเชื้อโรค เกิดจากการกินพิษของโรคที่ปนเปื้อนในอาหาร
- สารเคมี เช่น ตะกั่ว สารหนู
- พืชพิษ เช่น เห็ดพิษ กลอย เป็นต้น
2. แบบเรื้อรัง ผู้ป่วยจะถ่ายนานเกิน 7 วัน อาจเกิดจาก ภาวะดังนี้
- ภาวะเครียด
- ติดเชื้อ เช่น บิดอะมีบา
- โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน คอพอกเป็นพิษ
- ขาด Enzyme lactase เพื่อย่อย lactose
- ความผิดปกติเกี่ยวกับการดูดซึมของลำไส้
- เนื้องอก หรือ มะเร็งของลำไส้ หรือ ตับอ่อน
- อื่นๆ เช่น หลังการผ่าตัด
อาการของท้องเสีย
- ผู้ป่วยจะมีการถ่ายอุจจาระเหลว มากกว่า 3 ครั้ง ใน 1 วัน หรือถ่ายมีมูกเลือด เพียงครั้งเดียวหรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ชั่วโมง
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยท้องเสีย
- งดรับประทานอาหารแข็ง อาหารที่ย่อยยาก หรืออาหารที่มีกากมากเช่น ผัก ผลไม้ นมสด และอาหารที่มีไขมันมากควรรับประทานอาหารอ่อน หรือเหลว ย่อยง่าย
- ในเด็กควรงดดื่มนม 2-3 ชั่วโมง แล้วค่อยเริ่มให้นมผสม ชงแบบเจือจางเท่าตัว ส่วนเด็กที่กินนมแม่ให้ได้ตามปกติ
- ระวังภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ถ้าผู้ป่วยรับประทานได้ไม่อาเจียน หรืออาเจียนเล็กน้อยให้ผสมน้ำเกลือแร่กับน้ำต้มสุกดื่ม
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคท้องเสีย
- การรับประทานอาหารที่ปรุงสุก อาหารที่ปรุงร้อน และ ใช้ช้อนกลาง
- รับประทานอาหารไม่มีแมลงวันตอม
- ดื่มน้ำสะอาด
- ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากถ่ายอุจจาระ
ควรไปพบแพทย์เมื่อพบว่า
- เป็นอยู่นาน และเรื้อรัง
- มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
- มีอาการอาเจียน ดื่มน้ำ หรือกินอาหารได้น้อย
- เป็นโรคเรื้อรังอยู่ เช่น โรคเบาหวาน, โรคเลือด, โรคไต, โรคตับ ,โรคหัวใจ เป็นต้น
- อาการท้องเสียเกิดจากกินยาตามใบสั่งแพทย์ที่มีอาการข้างเคียงทำให้ท้องเสีย
- อุจจาระเป็นน้ำปริมาณมาก หรือ มีอาการแสดงภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาโหล เพลียซึม ไข้สูงเป็นต้น