โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ

โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ

โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อหรือโรคนิวโมเนีย (Pneumonia) เป็นโรคติดเชื้อในตำแหน่งของหลอดลมฝอยลุกลามจนถึงถุงลมปอด ส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังเกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดอื่นได้ เช่น พยาธิและเชื้อรา ขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย เมื่อปอดติดเชื้อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะส่งเม็ดเลือดขาวมาที่เซลล์ปอด และเกิดปฏิกิริยาการอักเสบจากการทำลายเชื้อโรค เกิดหนองหรือของเหลวท่วมขังอยู่ภายในถุงลมปอด รวมทั้งทำให้เซลล์ปอดบวมใหญ่ขึ้น เป็นที่มาของคำว่า “ปอดบวม” นั่นเอง

ภาวะดังกล่าวทำให้เกิดอาการไข้ ไอ หายใจลำบาก และหอบเหนื่อยตามมา อาการความรุนแรงจะแตกต่างกันไปตามกลุ่มอายุ โรคร่วม ระดับภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วยและชนิดของเชื้อก่อโรคและเนื่องจากโรคปอดอักเสบติดเชื้อยังเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นในกลุ่มโรคติดเชื้อ การวินิจฉัยอย่างทันท่วงที การรักษาที่ถูกต้องตามมาตรฐานรวมถึงการป้องกันในกลุ่มเสี่ยงจึงมีความสำคัญอย่างมาก

ระยะฟักตัวของโรค

– ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย อาจสั้นเพียง 1 – 3 วัน หรือนาน 1 – 4 สัปดาห์

ลักษณะการติดเชื้อ มีด้วยกันหลายทาง ดังนี้

  1. การสำลักเชื้อที่สะสมรวมกลุ่มอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนลงไปสู่เนื้อปอด เช่น สำลักน้ำลาย อาหาร หรือสารคัดหลั่งในทางเดินอาหาร หากในระยะนี้ผู้ป่วยมีร่างกายอ่อนแอ มีการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนหรือมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย ก็จะทำให้เกิดปอดอักเสบได้
  2. การหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง การสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยขนาดเล็ก เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบจากกลุ่มเชื้อไวรัส เชื้อวัณโรค และเชื้อรา จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อเหล่านี้ได้ง่ายในกลุ่มคนที่อยู่รวมกัน โดยเฉพาะครอบครัว ชั้นเรียน ห้องทำงาน สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน หรือในบริเวณที่มีคนอยู่แออัด
  3. การแพร่กระจายของเชื้อตามกระแสโลหิต เป็นทางสำคัญที่ทำให้เกิดปอดอักเสบจากเชื้อที่ก่อโรคในอวัยวะอื่น
  4. การลุกลามโดยตรงจากการติดเชื้อที่อวัยวะข้างเคียงปอดเช่น เป็นฝีในตับแล้วแตกตัวเข้าสู่เนื้อปอด

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย  (Instruction for Patient )

   ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบ

  1. บุคคลที่มีภูมิคุ้มกันต่ำตามวัย คือคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  2. บุคคลที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพองและโรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  3. ปัจจัยอื่นๆ เช่น ดื่มสุราเรื้อรัง สูบบุหรี่ อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดที่มีระบบสุขาภิบาลไม่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลภาวะ

อาการและอาการแสดงของโรคปอดอักเสบ

ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมักมีอาการแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค มักมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ อาการปอดอักเสบที่พบบ่อยคือ

  1. อาการเฉพาะที่ในระบบทางเดินหายใจ ไอ เสมหะเยอะ เสมหะสีเหลืองหรือเป็นหนอง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจเร็ว
  2. อาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ บางรายอาจจะมีหนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ซึมลง

ภาวะแทรกซ้อนของปอดอักเสบ

  1. การติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด กรณีสาเหตุของปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
  2. ภาวะช็อค กรณีติดเชื้อรุนแรง นำไปสู่ระบบอวัยวะภายในล้มเหลว
  3. ภาวะมีน้ำหรือเป็นหนองในเยื่อหุ้มปอด
  4. ภาวะฝีในปอด
  5. ภาวะการหายใจล้มเหลว
  6. ติดเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง

การวินิจฉัย

  1. จากอาการและอาการแสดงดังที่กล่าวข้างต้น
  2. ภาพรังสีทรวงอก จำเป็นต้องทำเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและประเมินภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ

การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ

  • การตรวจนับเม็ดเลือดขาวในเลือด
  • การย้อมเสมหะ ตรวจกล้องจุลทรรศน์
  • การตรวจเสมหะเพาะเชื้อ
  • การเพาะเชื้อจากเลือด (Hemoculture) ทำเฉพาะรายที่เป็นรุนแรง
  • การตรวจคัดกรองไข้หวัดใหญ่ กรณีสงสัย
  • การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) , การส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscope) พิจารณาโดยแพทย์เฉพาะทางตามความเหมาะสม

การรักษา

  1. การรักษาจำเพาะ
  • ในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาที่จำเพาะ ยกเว้นไข้หวัดใหญ่ที่มียาต้านไวรัส (oseltamivir or Tamiflu)
  • ในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเร็วที่สุดทันทีที่ได้รับการ วินิจฉัยว่ามีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย การพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะควรเลือกใช้ตามเชื้อที่คิดว่าเป็นสาเหตุในรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือยากิน พิจารณาตามความเหมาะสม
  1. การรักษาทั่วไป
  • ให้สารน้ำให้เพียงพอ แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ ในรายที่หอบมาก ท้องอืด รับประทานอาหารไม่ได้ แพทย์อาจพิจารณาให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและงดอาหารทางปาก
  • ใช้ยาขยายหลอดลมในรายที่มีหลอดลมตีบร่วมด้วย
  • ให้ออกซิเจนในรายที่มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่ามาตรฐาน
  • การใช้เครื่องพยุงการหายใจ (Non – invasive mechanical ventilation) เครื่องปล่อยออกซิเจนอัตราไหลสูง (High flow nasal cannula) พิจารณาใช้ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดระบบหายใจล้มเหลวรวมถึงการพิจารณาใส่ท่อช่วยหายใจและเครื่องช่วยหายใจ กรณีหยุดหายใจหรือระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน
  • ทำกายภาพบำบัดทรวงอก (chest physical therapy) เพื่อช่วยให้เสมหะถูกขับออกจากปอดและหลอดลมได้ดีขึ้น
  • การรักษาอื่นๆ ตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ ยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะในกรณีที่ให้สารน้ำเต็มที่ แต่เสมหะยังเหนียวอยู่
  1. การป้องกันไม่ให้เกิดโรค (Disease Prevention)
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะไม่ควรพาเด็กเล็กๆไปในสถานที่ดังกล่าว
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ภาวะทุพโภชนา ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น
  • ไม่ควรให้เด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีและผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงคลุกคลีกับผู้ป่วย
  • ให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีน IPD ป้องกันแก่ผู้ที่เสี่ยง
  1. ข้อควรระวัง (Precaution)
  • ผู้มีภาวะหายใจล้มเหลวหรือหยุดหายใจ แพทย์จะพิจารณาใส่ท่อหลอดลมและเครื่องช่วยหายใจ
  • ยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะในกรณีที่ให้สารน้ำ เต็มที่ แต่เสมหะยังเหนียวอยู่ ไม่ควรให้ยากดอาการไอโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำ กว่า 5 ปี