คลินิกอายุรวัฒน์ โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์
“ยาใจ ยากาย เพื่อ วันใส วัยสุข”
จัดตั้งขึ้นเพื่อการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยเน้นไปที่การให้การป้องกัน การรักษาโรค และความพิการที่เกิดขึ้น ด้วยอายรุศาสตร์ผู้สูงอายุ ที่จะเน้นไปที่การให้ความสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีความแตกต่างจากการดูแลผู้ป่วยทั่วไป เนื่องจากในวัยสูงอายุ จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ระบบต่าง ๆ ของอวัยวะในร่างกาย รวมไปถึงทางด้านจิตใจ
คลินิกอายุรวัฒน์ โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ ห่วงใยและเข้าใจในทุกๆ ความกังวลในของผู้สูงอายุและบุตรหลานทุกท่าน เราจึงให้บริการท่านโดยสหสาขาวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ เพื่อจะได้เข้าถึงปัญหาทางการแพทย์ ทางสังคมของผู้ป่วยอย่างเป็นระบบและครบถ้วน
การให้บริการของคลินิกอายุวัฒน์
- การตรวจสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ด้วยรายการตรวจที่ครอบคลุมทุกระบบของร่างกาย
- การดูแลส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี
- การให้คำปรึกษาและประเมินสุขภาพผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางการแพทย์หลายด้าน
- การดูแลผู้สูงอายุแบบปฐมภูมิ
- การวินิจฉัยและรักษาโรคในผู้สูงอายุ เช่น โรคกระดูกพรุน ภาวะสมองเสื่อม
- การฉีดวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ
การประเมินผู้สูงอายุ
เป็นการประเมินที่ครอบคลุมทุกการทำงานของร่างกาย โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ ซึ่งการประเมินนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อวิเคราะห์ความสามารถในการทำงานของสุขภาพกายและสุขภาพจิต ความเข้าใจ การรับรู้ของผู้สูงอายุ การประเมินสุขภาพแบบจำเพาะ เช่น ภาวะโภชนาการ การใช้ยา การมองเห็น การได้ยิน การเดิน การทรงตัว ความจำ การประเมินนี้นอกจากจะช่วยในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ แล้ว ยังช่วยในการพัฒนาการรักษาและใช้ในการวางแผนการตรวจติดตามอาการ การประสานงาน การดูแล และการประเมินความต้องการในระยะยาวของผู้ป่วยอีกด้วย
การให้คำปรึกษาด้านการใช้ยา
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมียาที่ต้องรับประทานจำนวนมาก ซึ่งการใช้ยาดังกล่าวนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยาระหว่างยาได้ง่ายกว่าคนในวัยอื่น ๆ การทบทวนประวัติยาจึงเป็นวิธีการที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยาให้แก่ผู้สูงอายุทุกท่าน ซึ่งเภสัชกรจะทำหน้าที่ทบทวนยาที่ต้องรับประทานอยู่เป็นประจำ ทั้งจากแพทย์ และการซื้อจากร้านขายยา รวมไปถึงวิตามินและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต่าง ๆ อีกทั้งยังให้คำแนะนำถึงวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการไม่พึงประสงค์และผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้
การให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ
เพื่อช่วยให้ทราบถึงพฤติกรรมการบริโภค ประวัติ โรคประจำตัว และสิ่งที่กังวลเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งจากประวัติข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยให้นักโภชนาการวางแผนปรับพฤติกรรมการบริโภคที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต และการตั้งเป้าหมายในแต่ละวันร่วมกันทั้งสองฝ่ายได้ รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารที่ไม่จำเป็น อาหารอันตรายที่ควรหลีกเลี่ยง และอาหารที่ช่วยเสริมให้ร่างกายและจิตใจดี ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการดูแลและวางแนวทางในการปฏิบัติตัวอย่างพิเศษเฉพาะบุคคล