ลูกติดเกม เลิกไม่ได้ แต่แก้ไขได้!
การเล่นเกมอย่างพอดี ทำให้สนุกสนานเพลิดเพลิน คลายเครียด ฝึกทักษะ ความพยายาม การตัดสินใจ การประสานการทำงานของกล้ามเนื้อและประสาทระหว่างมือกับตาได้ แต่…การเล่นเกมติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือหมกมุ่นมากจนเกินไป ทำให้เกิดอาการเสพติดและเกิดผลเสียต่อสุขภาพทางกายและจิตใจได้เช่นกัน
5 เทคนิค แก้ไขลูกติดเกม
1. เลือกเกมให้เหมาะสมกับอายุลูก
- อายุน้อยกว่า 3 ขวบ ไม่ควรให้เล่นเกม ควรทำกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการอื่น ๆ
- อายุระหว่าง 3-6 ขวบ ควรเล่นเกมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการศึกษา และต้องมีพ่อแม่ดูแลใกล้ชิด
- อายุ 6 ขวบขึ้นไป สามารถเล่นเกมอื่น ๆ ได้ตามที่พ่อแม่กำหนดไว้
- อายุ 13 ปีขึ้นไป หลีกเลี่ยงเกมที่มีเนื้อหาความรุนแรงมากเกินไป เช่น ฉากต่อสู้นองเลือด และห้ามเล่นเกมที่มีการวางแผนฆ่าศัตรู เพศสัมพันธ์ คำหยาบคาย การพนัน และยาเสพติด
2. ก่อนอนุญาตให้ลูกเล่นเกม ควรมีการสัญญา ตกลงกัน และจำกัดเวลาเล่น
เช่น ต้องทานข้าวให้เสร็จก่อน จึงจะได้เล่นเกมเป็นเวลา 1 ชั่วโมง
3. มีบทลงโทษ เมื่อลูกไม่ทำตามกติกาที่วางไว้
เช่น งดเล่นเกมส์เป็นเวลา 1 สัปดาห์
4. เก็บอุปกรณ์ในการเล่นเกมหรือโทรศัพท์มือถือให้ห่างไกลจากลูก
5. เบี่ยงเบนความสนใจของลูกให้หันไปทำกิจกรรมอื่น ๆ
โดยเฉพาะกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกับพ่อแม่ได้ เช่น การอ่านหนังสือหรือเล่านิทานก่อนนอน เล่นกีฬาที่ลูกชอบ พาไปเดินเที่ยวในสวนสาธารณะ เพื่อความสัมพันธ์ในครอบครัวให้มากขึ้น
บทความโดย พญ.ภัทรียา ธารสิริโรจน์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์